ถึง ธุลีดิน แห่ง Blogspot …

 

 

ทั่นพี่ฯ เป็นอย่างไรบ้าง

 

… มือไม้ยังใช้การได้ตามประสงค์ใช่ไหม คนเรานี่ก็แปลกดีหนา อวัยวะของเราแท้ๆ สั่งอะไรก็ไม่ทำตาม มันนึกจะดื้อ ก็ด้านเสียอย่างนั้น !

 

หรือแท้จริงแล้ว อะไรๆ ที่มั่นหมายว่าเป็นของเรา … มันไม่ใช่ มันไม่อยู่ในการควบคุม และไม่อยู่ในการสั่งการใดๆ  อย่างที่เราเข้าใจผิดไปเสียเองว่า ของกู เรื่อง(ดีๆ)แบบนี้ คิดเองไม่ได้พรอกพี่ทั่น ผมฟังพระว่ามา

 

นานมาแล้ว ผมได้ยินเรื่องเล่าขานทำนองว่า หมอไทยคนหนึ่ง เป็นหมอผ่าตัดเสริมสวยงาม นัยว่า ตาต้องดีเหมือนเหยี่ยว มือต้องเบาเสมือนแมว และใจต้องนิ่ง … เหมือนอะไรจำไม่ได้แล้ว (ฮา)

 

(หมอคนนั้น)เกิดอุบัติเหตุ ขี่จักรยานตกท่อ (เขาว่าอย่างนั้นหนาพี่ทั่น) เป็นเหตุให้กระดูกข้อมือแตก ไม่สามารถเป็นหมอมือแมวตาเหยี่ยวได้อีกต่อไป … หลายปีต่อมา ได้ข่าวว่า หมอหันไปเปิดร้านอาหารสุขภาพ และยังมี สปาน่านวด ธุรกิจขายดิบขายดี ส่วนว่า จะมีความสุขหรือไม่นั้น ไม่ได้ซักถามต่อให้ยุ่งยาก

 

เหตุการณ์ที่ว่า ทำให้นึกถึงหนังโรงเกี่ยวกับไดโนเสาร์ … จูราสสิก ปาร์ค ซึ่งน่าจะเป็นภาคแรก บทสนทนาระหว่าง Henry Wu และ Dr. Ian Malcolm พูดถึงอะไรสักอย่าง เกี่ยวกับการปรับตัวของสิ่งมีชีวิต กับ ธรรมชาติ ตามสภาพปัจจุบัน

 

Henry Wu : You’re implying that a group composed entirely of female animals will … breed ?

Dr. Ian Malcolm : No, I’m simply saying that life, uh … finds a way.

 

เรามักบอกว่า ไดโนเสาร์ตายเพราะไม่ปรับตัว … พี่ทั่นฯ นอกจากไดโนเสาร์แล้ว ไม่มีใครรู้หรอกว่า พวกมันอาจกำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างสุดกำลัง เพื่อความอยู่รอด … เพียงแต่ไม่ทันเวลา เท่านั้น

 

เซลล์ในร่างกายของเรา ปรับตัวอย่างมากมาย ไม่ใช่ในช่วงเวลาแห่งความสุข … ในเวลาอดอยาก ต่างหาก เซลล์ของสิ่งมีชีวิตมีภูมิคุ้มกันแข็งแรงเป็นพิเศษ

 

มิน่าเล่า อดข้าวบ้าง ถ่ายเลือดเสียออกไป กลับทำให้ร่างกายแข็งแรงกว่าเก่า

 

ประเทศชาติยามนี้ หากมองให้ดี (หมายความว่ามองให้เห็นโอกาสอันดี) เราอาจพบว่า เราผ่านจุดเสียวจนชินชา อะไรๆ ที่ชาวโลกว่า (หวาด)เสียว สำหรับเราคนไทย อาจกลายเป็นเรื่องชาชา ชิวว์ ชิวว์ แค่นั้น   

 

เพราะในที่สุด ไม่ว่าจะตีกันหัวล้างข้างแตกสักแค่ไหน คนไทยก็กลับมาอยู่กันได้หลังจากนั้น(ไม่นาน) และเมื่อเราเดินผ่านช่วงเวลาแห่งความสุขกันจนเอียน เราก็กลับมาตีหัวกันอีกที … ทฤษฎีนี้ แม้ไม่น่าพิสมัย แต่เราก็อยู่กันมาได้นานนับร้อยปี มิใช่หรือ ?

 

เพราะไม่เฉพาะคนไทยเท่านั้น ชีวิตคนเราก็เป็นแบบนี้ เราเดินทาง และ(ตัดสินใจ)เลือกเส้นทางกันแทบทุกวันเวลานาที หากทางนี้ไม่ใช่ เราก็เลือกทางนั้น และหากทางนั้นไม่ใช่ ทางโน้นก็ยังมี

 

คำถามที่ว่า เราจะเดินทางไปไหนกัน หรือ ชีวิตนี้เราเกิดมาทำไม ต่างเป็นเหมือนปัญหาไก่กับไข่ อะไรเกิดก่อนกัน รู้คำตอบไป เราก็ยังสงสัยอยู่อย่างนั้น ลองคิดกันเพียงว่า ชีวิตคือการเดินทาง และ เราจะหาทางเดินต่อไปจนได้ โดยไม่จำเป็นต้องหาเหตุผลรองรับมากมาย

 

I’m simply saying that life, uh … finds a way.

 

ขุนอรรถ

 

ปล. ฝากอักษรามาให้อ่านในประโยคบอกเล่า หาได้ต้องการ(คำ)ตอบแทน

 

ที่มา http://tuleedin.blogspot.com/2008/11/blog-post_19.html

ที่ไป http://www.imdb.com/title/tt0107290/quotes