ต่อปากต่อคำ : รู้จักประเทศไทยให้มาก

 

ที่มา : http://1001ii.wordpress.com/2009/04/18/0189-รู้จักประเทศไทยให้มาก/ 

ที่ไป … 

 

ไหนๆ คุณนรินทร์อนุญาตแล้ว ขอใส่เต็มๆ ไม่ออมปากกาเลยแล้วกัน

 

ส่วนตัว ผมมีประสบการณ์ตรง ๒ อย่าง

 

๑. ผู้นำมี Background อย่างไร องค์กรก็เป็นแบบนั้น

 

จากประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อครั้งผู้นำ(รุ่นแรก)เป็นวิศวกร บริษัทก็เติบโตด้วยวิทยาการเทคโนโลยี แม้ไม่ได้ทันสมัยอะไรหนักหนา แต่การพัฒนาด้วยเทคโนโลยี ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น มีการสร้างงาน/สร้างเงิน อย่างชัดเจน

 

ต่อมา ผู้นำ(รุ่นสอง)เป็นนักการเงิน … มองธุรกิจอีกแบบหนึ่ง มองดีมานซับพลายมากกว่าเดิม มองการลงทุน การบริหารทรัพย์สิน ฯลฯ จาก สร้างเงิน กลายเป็น ต่อเงินในยุคที่สองนี้

 

ปัจจุบัน ผู้นำองค์กรเป็นนักการทูต … วันๆ เอาแต่เจรจากับคนนั้น หน่วยงานนี้ แต่ฐานข้อมูลว่างเปล่า เป้าหมายเลื่อนลอย วิธีการไม่ต้องพูดถึง และการพัฒนาคุณภาพเป็นเรื่องของ QMR ไปฉิบ …   

 

… ผู้นำมี Background อย่างไร องค์กรก็เป็นแบบนั้น

 

๒. ต่อมาได้อ่านแผนการพัฒนาประเทศไทย ฉบับดีที่สุด เท่าที่ผมเคยอ่านมา วัดรอยเท้าช้าง  (Benchmarking) เขียนโดย ดร. พีรศักดิ์ วรสุนทโรสถ

 

ผมยิ่งมั่นใจอย่างอาจารย์ว่า … นักการเมืองเป็นอย่างไร ให้ดูคุณภาพของคนในประเทศ

 

เขียนอย่างนี้ โดนสวดแน่ๆ พาลถูกกล่าวหาว่าไปด่ารากหญ้าเข้าให้ … โอเค เขียนใหม่ก็ได้ … คนในประเทศ(จะ)เป็นอย่างไร ให้ดูที่คุณภาพของนักการเมือง

 

… เห็นไหม ไม่ว่าจะเขียนอย่างไร คนไทยและนักการเมืองไทยต่างเป็นกระจกสะท้อนกันและกัน

 

อีกเรื่องหนึ่ง … คนที่ดูเหมือนๆ กันนี่ จริงๆ ไม่เหมือนกันหรอกครับ เท่าเทียมกันได้อย่างไร … อ่า เขียนแบบนี้ก็โดนสวดอีกนั่นแหละ

 

สมมุติอย่างนี้ได้ไหม

 

ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง มีประชากร ๑๐๐ แบ่งเป็นครู ๒๐ พนักงานต่างๆ ๑๐ และที่เหลือ ๗๐ เป็นนักเรียน … ยกมือโหวตกันทีไร นักเรียนชนะทุกครั้งใช่ไหม … ใช่ไหม ???

 

จะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นกับโรงเรียนแห่งนี้ หากอาจารย์แพ้โหวตนักเรียนทุกครั้งที่เรียกนับจำนวน 

 

คนเหมือนกัน ไม่เหมือนกันใช่ไหม … เพราะเมืองไทย ยังยืนยันใช้ประชาธิปไตยตะบี้ตะบัน จะต่างอะไรกับคนตาบอดคลำช้าง เห็นความจริงเป็นส่วนๆ เห็นช้างแค่งวง … ช้างไม่เป็นช้าง

 

แปลกไหม แปลกไหม เหตุใดประชาธิปไตยทำคนไทยตาบอด … เขียนอย่างนี้ก็คงโดนสวดอีกนั่นแหละ

 

ในหนังสือวัดรอยเท้าช้าง อาจารย์เขียนว่า แรกๆ ลีกวยยู ก็เริ่มต้น Benchmarking กับประเทศที่สำเร็จ  เพื่อนำสิงคโปร์ไปสู่การเป็นประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ และพร้อมกัน คุณลีแกก็ยังพยายามยกระดับการแข่งขันของสิงคโปร์ เข้าสู่แนวหน้าของนานาชาติให้ได้

 

ปี 2526 คุณลีว่าจ้าง กูรูระบบคุณภาพระดับโลก ฟิลิป ครอสบี้ ให้วางกรอบคุณภาพให้สิงคโปร์ทั้งประเทศ  โดยยุทธวิธีทั้งหมดวางอยู่บนฐานการพัฒนาคนในประเทศเป็นหลัก  

 

มีทั้งการวางกรอบเชิงปริมาณและคุณภาพของคนในชาติในสาขาต่างๆ เช่น ควรมีนักกฎหมายกี่คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน (อาจารย์หยิกยอกว่า ไม่ผลิตนักกฏหมายออกมาจนเกร่อ ไม่มีงานทำ กลายเป็นนักการเมืองงูๆ ปลาๆ เหมือนบางประเทศ ฮาไม่ออก)  

 

และคนควรเรียนวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ สังคม แพทย์ ฯลฯ ในสัดส่วนเท่าใด โดยใช้ Benchmark ของประเทศที่พัฒนาสำเร็จเป็นหลัก

 

ประเทศจะเจริญพัฒนาขึ้นได้ต้องมีฐานของ Critical Mass (หรือ ปริมาณมากพอ) ของคนที่มีคุณภาพในชาติเสียก่อน … จริงอย่างอาจารย์ว่าไหม … ว่าไหม ?

 

ประเทศไทยต้องการความรู้ความเข้าใจในหลักการของ Benchmarking และจำเป็นต้องอาศัยยุทธวิธี การทำ Benchmarking นี้ เพื่อวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของเราในระยะยาว

 

บ่อยครั้ง นักการเมืองไทยมักโวยวายว่า อย่าไปเชื่อผลสำรวจของฝรั่ง เพราะไม่หวังดีต่อเรา ไทยไม่ได้เป็นเมืองขึ้นของใคร (ขอเพียงเป็นเมืองขึ้นของฉันต่อไปดีกว่า นักการเมืองหลายคนแอบคิดอย่างนั้น)

 

แต่ไม่ว่าจะสำรวจเมื่อใด หรือไม่ว่าจะสำรวจโดยใคร (และสำรวจโดยไทยเอง) … ไทยก็ไม่เคยเสนอหน้าเป็นหนึ่งในประเทศกินดีอยู่ดีเสียที

 

อาจารย์หยิกแรงๆ อีกครั้งว่า … ทุกวันนี้ ในขณะที่สิงคโปร์กำลังส่งออกผู้บริหาร ผู้จัดการ ไทยไม่ต้องแข่งขันกับใคร เพราะกำลังส่งออกแรงงานราคาถูก และโสเภณี  

 

ถึงเวลาหรือยัง ที่เราจะหยุดทะเลาะกัน แล้วมองไปข้างหน้า หยุดงมงายเชื่อนักการเมืองหน้าเก่า นักกฏหมายหน้าเดิมๆ ได้แล้ว  

 

คุณนรินทร์ว่าไหม สีไหนชนะก็เหมือนเดิม (เชื่อพ้ม) เพราะตั้งแต่ฟังพวกมัน เอ้ย พวกเขามา … ไม่บ้า(แก้)กฎหมาย ไม่บ้าประชาธิปไตย … ก็บ้าเงิน

 

 

… หาพวกบ้าพัฒนาคนไม่เจอส้ากกะคน !

 

จบ

 

ขุนอรรถ

 

080219_p6_cartoon