สัปปายะสภาสถาน … โห!

ท่านยางฯ

สัปปายะสภาสถาน, เรื่องนี้เห็นทีต้องคุยกับท่านฯ

แรกได้ยินก็แปลกสองอย่าง อย่างแรก. เขามีการประกวดประชันกันตั้งแต่เมื่อไร เรื่องน่าสนใจเยี่ยงนี้ ดันทะลึ่งตกข่าวตกม้าตายเสียอย่างนั้น (ทีเรื่องอื่นล่ะก็เจือกรู้เรื่องเขาไปทั่ว!)

อย่างสอง. คือชื่อ ท่านยางฯ คิดดู สถานที่แบบนั้นมันจะบังอาจ “สัปปายะ” กันได้ด้วยหรือ

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) แถลงว่า [286] สัปปายะ 7 (สิ่งที่เหมาะกัน สิ่งที่เกื้อกูล ช่วยสนับสนุนในการบำเพ็ญภาวนาให้ได้ผลดี ช่วยให้สมาธิตั้งมั่น ไม่เสื่อมถอย — suitable things; things favorable to mental development)

อ่านความหมายจากท่านเจ้าคุณไป จินตภาพเห็น สส. ยกมือประท้วงไป – ขนลุก!

ขยายความ “สัปปายะ” หรือ Suitable กันอีกสักนิด แล้วลองช่วยจินตนาการตามไปด้วยหน่อยเถอะ ท่านยางฯ สัปปายะท่านว่าควรมีลักษณะทั้ง 7

ก. ไม่พลุกพล่านจอแจ suitable abode (อาวาสสัปปายะ) ข. ใกล้ชุมชน(ไม่ชิด/ติด) suitable resort (โคจรสัปปายะ) ค. ที่ที่พูดแต่พอประมาณ suitable speech (ภัสสสัปปายะ) ง. มีบุคคลที่ถูกกันเหมาะกัน suitable person (ปุคคลสัปปายะ) จ. มีอาหารที่เหมาะกัน suitable food (โภชนสัปปายะ) ฉ. ดินฟ้าอากาศธรรมชาติแวดล้อมที่เหมาะกัน suitable climate (อุตุสัปปายะ) ช. อิริยาบถที่เหมาะกัน suitable posture (อิริยาปถสัปปายะ)

เป็นไงล่ะท่านฯ ขนลุกบ่?

วันก่อนเดินผ่านแผงหนังสือเห็นข้อความ “Are we there yet?” Round table discussion on the new parliament design บนหน้าปกหนังสือ art|4|d เลยหยิบเอามาย่อให้ฟัง

… ทวีจิตร จันทรสาขา นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐสภาแห่งแรกตั้งขึ้นในห้องโถงชั้นบนพระที่นั่งอนันตสมาคม รองรับ สส. ชุดแรก 70 ท่าน หลังเหตุการณ์ 2516 เราจึงมีรัฐสภาอย่างที่ใช้กันจนมาถึงปัจจุบัน

รัฐบาลพูดถึงรัฐสภา แห่งใหม่หลายปี จนมาถึงปี 2536 (ในสมัยคุณทักษิณ) จึงมอบให้สมาคมสถาปนิกสยามศึกษา และปี 2552 จึงเริ่มประกวดแบบ เดิมทีประธานสภาคิดว่าจะให้บริษัทสถาปนิกฝรั่งรับออกแบบและสร้างแบบเบ็ด เสร็จ (แบบเดียวกับสุวรรณภูมิ) แต่นายกสมาคมฯ ใช้เวลานานเพื่อโน้มน้าวเพื่อให้สถาปนิกไทยเท่านั้นเสนอแบบเข้าประกวดได้

จริงสิ หากจะพิจารณากันให้ดี รัฐสภาแห่งแรกตั้งขึ้นเมื่อล้มการปกครองระบอบสมบูรณฯ ครั้งที่สองหลังเหตุการณ์ตุลาวิปโยค เราจึงมีรัฐสภาข้างเขาดิน คราวนี้ รัฐสภาแห่งใหม่เกิดได้หลัง 19 กันยาฯ จะเพราะใครล้มใคร หรือระบอบอะไรกับระบอบอะไร ลองคิดดู

หรือหากจะมีรัฐสภาไทยแห่งใหม่ได้ คงต้องอาศัยแห่งการทำลายสิ่งเก่าแล้วตั้งโต๊ะใหม่ ยังไงยังงั้น พับผ่า!

จากแบบทั้งหมด 133 แบบโดย 99 กลุ่มนักออกแบบ (ส่วนใหญ่ไม่มีประสบการณ์ออกแบบอาคารใหญ่ 300,000 ตรม. มูลค่า 12,000 ล้านบาท!) คัดรอบแรกเหลือ 10 และรอบสองเหลือ 5 และเชิญกรรมการขั้นสุดยอดเมืองไทยจากแขนงต่างๆ มาคัดเลือกจากเหลือ 1

ทีมที่ชนะประกวดชื่อ สงบ 1051 โดยสถาบันอาศรมศิลป์ และ Plan Association เป็นแกนหลัก มีแนวคิดการสถาปนาเขาพระสุเมรุครั้งใหม่ในยุครัตนโกสินทร์ เขาเรียกมันเสียเก๋ไก๋ไฉไลว่า “สถาปัตยกรรมไตรภูมิ” แต่นายกสมาคมฯ ให้ความเห็นส่วนตัวว่า “ผมคาดหวังมากกว่านี้ … สมาคมฯ อยากได้เวลาวิจัยเยอะกว่านี้ แต่ฝ่ายการเมืองอยากให้สร้างพรุ่งนี้เลย!”

แน่นอน, หลังผลประกวด เกิดทั้งเสียงตำหนิ และให้กำลังใจ … แบบไทยแท้

บทสนทนาของนักคิดนักทำงาน 4 ท่าน ได้แก่ วิจิตร อภิชาตเกรียงไกร (ศิลปิน) ไขศรี ภักดิ์สุขเจริญ (อาจารย์สถาปนิก) ธเนศ วงศ์ยานนาวา (นักวิชาการนักเขียน – เจ้าพ่อ Post-modern) และ ชาตรี ประกิตนนทการ (อาจารย์สถาปนิก) คัดย่อมาได้ประมาณนี้

รัฐสภาไทยควรจะเป็นอย่างไร อะไรคือรัฐสภา อะไรคือแบบไทย อเมริกาว่า “อิสรภาพคืออเมริกา” แล้วไทยล่ะ อะไรคือไทย ภาษาไทย อาหารไทย กีฬาไทยหรืออะไร หลังสงครามโลกครั้งที่สอง รัฐไทยพยายาม “ปิดประตูตีแมว” (Centralize) แล้วยัดเยียดอัตลักษณ์แบบไทยๆ ให้ชาวไทย!

ตั้งแต่นั้นมา ความเป็นไทยจึงแข็งๆ ทื่อๆ ไม่ลื่นไหลเข้ากับสังคมที่เปลี่ยนไป ทั้งที่จริงแล้ว ความเป็นไทยอยู่ใน DNA ไม่ใช่ รูปหรือฟอร์ม หางหงส์ช่อฟ้าใบระกา หรือ อะไร “ช้อยๆ” แบบนั้น หรือท่านยางฯ ว่าอย่างไร

ทั้ง 5 แบบที่หลุดเข้ามาถึงรอบสอง ทั้งหมดเหมือนกันตรงที่พยามยามนำเอา “Thai Form” มาใช้ และที่เหมือนกันแต่ก็ไม่แปลกอะไร (อาจารย์ท่านหนึ่งว่า)คือการใช้ไวยากรณ์ทางสถาปัตยกรรม หมายถึงอะไรควรวางตรงไหน เคลื่อนที่อย่างไร สัมพันธ์กันหรือไม่ (Form / Flow / Functions) – เรื่องนี้ที่ว่าเหมือนๆ กัน แต่ไม่เป็นไร เพราะสอดคล้องกับสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ควรจะเป็น แต่ …

แต่สองจุดเล็กๆ ที่มาจากแนวคิดและไม่เหมือนใคร อันเป็นหนึ่งเดียวที่พบได้จากงานสถาปัตยกรรมที่เข้าประกวดก็คือ การแยกโซนของ สส. กับ สว. ออกจากกันและแทนพื้นที่ส่วนตรงกลางด้วย “ศีลธรรมอันดี” โดยอาศัยพระสยามฯ แทนศาสนา และพระมหากษัตริย์ แสดงออกโดยวางตำแหน่งใช้โถงราชพิธีเป็นสัญลักษณ์ที่ว่านี้

นั่นเองเป็นที่มา เกิดเป็นข้อถกเถียงที่น่าสนใจ 3-4 ประเด็น …

หนึ่ง. ว่ากันว่าสำนักออกแบบที่ชนะการประกวดได้แนวคิดมาจาก “ความโหยหาศีลธรรมในการเมืองไทย” ซึ่งดูเหมือนว่าเรา โดยเฉพาะชนชั้นกลาง ผู้ซึ่งเติบโตในช่วงหลังเหตุการณ์ 19 กันยาฯ ต้องการคนดีเข้าสภา และคำว่า “คนดี” เป็นรูปธรรมเกินไปในมุมมองหนึ่ง

สอง. ในขณะที่โลกเปลี่ยนไป ชนชั้นวรรณะ(ในไทย)ลดลงจนแทบไม่เหลือ แต่การออกแบบให้มี วรรณะ/ชนชั้น (Hierarchy) ก็นับว่าสวนกระแสหลักของโลกอยู่ไม่น้อย ท่านยางฯ เชื่อไหม รัฐสภาแห่งใหม่จัดให้มีพื้นที่โลกียธรรม สำหรับคนทั่วไป ทำหน้าที่คล้ายท้องสนามหลวง และมีพื้นที่โลกุตรธรรม ที่นักออกแบบเจตนานำเขาพระสุเมรุ และมณฑปพระสยามฯ จัดพื้นที่ด้านบนไว้สำหรับ “ครอบ” สส. สว.

อ้อ … ท่านยางฯ คงไม่ลืมว่า สถาปัตย์ไทยเคยออกแบบแต่วังและวัด … รัฐสภาสำหรับนักออกแบบ (และพวกเรา) จึงเป็นเรื่องใหม่กิ๊ก!

สาม. การออกแบบให้ “พุทธ” เป็นตัวแทนความดีเช่นนี้ น่าจะก่อปัญหามากกว่าก่อความสงบเรียบร้อยปรองดอง อาจารย์หลายท่านค่อนว่า “พลังของศาสนาพุทธ ไม่จำเป็นต้องแสดงออกมาในรูปแบบ แต่น่าจะเป็นพลังของการปรับตัวเข้ากับความจริง(ธรรม) มากกว่า” – น่าคิด

สี่. รัฐสภาเป็นส่วนผสมของความขัดแย้งหลายมิติ เพราะควรเป็นที่ที่พลัง(จาก)ประชาชน จะได้มีโอกาสเรียกร้องความเท่าเทียม แต่ “รัฐสภา” เองก็ไม่ใช่สถานที่ของคนทั่วไปจะเข้าได้ พวกกันง่ายๆ ไม่ใช่สถานที่ที่ชาวนาจะเดินเข้าออกได้ง่ายๆ เพราะนอกจากจะต้องรักษาความปลอดภัย ยังต้องรักษา “ภาพลักษณ์” อันสะท้อนความเป็นสถาบัน (พลัง, ยิ่งใหญ่) ไว้ในขณะเดียวกัน

ผมตกหล่นเรื่องสำคัญที่โน้ตไว้นิดหน่อย

ห้า. นอกจากทีมชนะแล้ว อีก 4 ทีม ก็ได้นำเสนอรัฐสภาออกมาด้วยสัญลักษณ์ต่างๆ เช่น ดอกบัว, พานแว่นฟ้า, วัดวังแบบโมเดิร์น ขนาบข้างด้วยอาคารสูง (ออกแบบโดย A49) และ สื่อความร่วมสมัยออกมาในสไตล์ “โมเดิร์นฟอร์ม”

หก. มีข้อถกเถียงกันค่อนข้างแรงต่อประเด็นที่สถาปนิกแย้งศิลปินสาขาประติมากรรมว่า “ประติมากรรมเน้น form และอารมณ์ แต่สถาปัตยกรรมเน้นว่า form ต้องรับใช้ functions หรืออีกนัยหนึ่ง form ที่ดีต้องสามารถกำหนดพฤติกรรมของผู้ใช้อาคารหรือสถานที่นั่นได้ด้วย

ดังนั้นหากมองในมุมนี้ แบบที่ชนะการประกวดอาจถือได้ว่า เป็นสถาปัตยกรรมที่ถอยหลังเข้าคลอง

ขุนอรรถ